โรงเรียนภาษาและศิลปะการประกอบอาหารเสาวภา
การเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยในต่างแดน
อาหารไทยในปัจจุบันได้เผยแพร่ออกไปสู่สายตาชาวโลกกลายเป็นอาหารไทยสู่ครัวโลก ชาวต่างชาตินิยมรับประทานอาหารไทยและได้ดัดแปลงรสชาติ วิธีการปรุง เพื่อให้เหมาะสมกับรสชาติที่ตัวเองชอบหรือไม่ก็เพราะวัตถุดิบหาได้ยากตามท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เช่น น้ำตาลมะพร้าว ใบมะกรูด ตะไคร้ ข่า ใบโหระพา ใบกระเพรา มะนาว ฯลฯ บางประเทศอาจหาได้ยาก ไม่มีหรือหาไม่ได้ ก็ไม่ใส่ทำให้รสชาติ กลิ่น สี เปลี่ยนไป การเรียนรู้หลักการประกอบอาหารไทยเป็นวิชาพื้นฐานจำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องของรส รสชาติ กลิ่น สี และเนื้อสัมผัสของอาหารในแต่ละจาน ให้ถูกต้อง
อาหารไทยในต่างประเทศเป็นอาหารไทยที่ถูกประยุกต์และดัดแปลงรสชาติให้แตกต่างไปจากเดิมมาก บางที่มองไม่ออกว่าเป็นแกงเขียวหวานไก่ เพราะสีคล้ำออกดำ (สีของมะเขือม่วง) สั่งก๋วยเตี๋ยวน้ำตกก็จะไม่มีกลิ่นหอมของเครื่องเทศ (โป๊ยกั๊ก พริกไทย อบเชย)
จากประสบการณ์ที่ชอบเดินทางไปหลายประเทศและจะสั่งอาหารไทยทานตามร้านอาหารไทยที่อยู่ตามตัวเมืองของแต่ละประเทศทำให้รู้ว่า อาหารไทยในแต่ละประเทศนั่นจะเห็นได้ชัดเจนว่ารสชาติ การตัด หั่น ซอย หรือการจัดจานจะแตกต่างกันออกไป เชฟที่ทำอาหารบางท่านก็ไม่มีความรู้มากหรือมีความถนัดในการปรุงอาหารไทยให้ถูกต้องอาศัยอ่านจากหนังสือ หรือเรียนรู้จากแม่ครัวคนไทยมา ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ แต่ผู้ที่จะนำเอาความรู้ทางด้านอาหารไปถ่ายทอดหรือเผยแพร่ให้กับคนไทยหรือชาวต่างชาตินั่นจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความรู้ด้านอาหารอย่างถูกต้องรู้ให้ลึกและรู้จริงรวมทั้งความเป็นมาของอาหารในแต่ละจานได้อย่างถูกต้อง อย่าลืมว่าผู้เรียนเมื่อเขากลับไปประเทศของเขา เขาจะนำเอาวัฒนธรรมทางด้านอาหารไทยของเรากลับไปด้วยเพื่อบอกต่อ หรือไปถ่ายทอดให้กับประเทศของเขาและประเทศอื่นอีกต่อไป
อาหารไทยในแต่ละจานควรเป็นตำรับที่ได้มาตรฐาน หมายถึง ผู้ปรุงทุกคนที่นำตำรับมาตรฐานนั่นมาปรุงแล้วได้รสชาติ กลิ่น สี เนื้อสัมผัสคงเดิมเหมือนกันหมดทุกจาน อาหารไทยมีความสำคัญในเรื่องของรสชาติ กลิ่น สี เนื้อสัมผัสในแต่ละจาน ถ้าเชฟหรือผู้ปรุงอาหารมีความรู้ เข้าใจในเรื่องของรสชาติอาหารไทย รู้จักวัตถุดิบส่วนผสม วิธีการปรุงที่ถูกต้องก็สามารถดัดแปลงอาหารไทยให้ได้รสชาติกลมกล่อม มีสีสันสวยงามได้กลิ่นที่หอมชวนรับประทานมากยิ่งขึ้น อุปกรณ์ในการประกอบอาหารไทยก็มีส่วนสำคัญ เช่น ถ้วยตวงของแห้ง ถ้วยตวงของเหลว ช้อนตวง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นซึ่งผู้เขียนได้เป็นครูสอนวิชาหลักการประกอบอาหารไทยให้กับชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายปี ถ้วยตวงในประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนกับบ้านเรา ของเขา 1 ถ้วยตวงของเหลว เท่ากับ 200 ml. แต่บ้านเรา 1 ถ้วยตวงของเหลวเท่ากับ 250 ml. ผู้สอนเองต้องสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ในการชั่งตวงก่อน ส่วนเครื่องปรุง เช่น น้ำตาลทรายในญี่ปุ่นเป็นน้ำตาลทรายเม็ดละเอียดกว่าบ้านเราเวลาใช้ต้องทำการทดลองใหม่ก่อนนำไปสอนผู้เรียนได้ เนื่องจากความหวานของน้ำตาลมีความแตกต่างกันที่เมืองไทยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ญี่ปุ่นใช้ 2 ½ ช้อนโต๊ะ ส่วนในเรื่องของวัตถุดิบบางอย่างก็ใช้แทนกันได้ถั่วพูไม่มีก็ใช้ถั่วฝักยาวนำมาทำยำ มะละกอไม่มีก็ใช้แครอทมาทำส้มตำไทยแทนได้
ในปัจจุบันแต่ละประเทศจะมีซุปเปอร์มาเก็ตจำหน่ายเครื่องปรุง วัตถุดิบอาหารไทยสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นและสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถประกอบอาหารไทยทานได้เองที่บ้านเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติสนใจเรียนทำอาหารมากยิ่งขึ้นและเพื่อสุขภาพที่ดี จุดขายที่สำคัญของอาหารไทย คือ อาหารไทยเป็นอาหารสมดุลสมุนไพรเป็นอาหารต้านโรคได้ในพืชผักที่ใช้ในการประกอบอาหารไทยมีสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาในการบำบัดรักษาโรคได้ รวมทั้งอาหารไทยมีรสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมการทาน วิธีการประกอบอาหารในแต่ละภาคของประเทศเป็นสิ่งชวนให้ผู้เรียนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมีความสนใจมากยิ่งขึ้น สุดท้ายผู้เขียนขอฝากไว้สำหรับชาวไทยขอให้ช่วยกันอนุรักษณ์และเผยแพร่อาหารไทย เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีของบรรพบุรุษไทยที่ได้สั่งสมกันมานาน ให้กับชาวไทยและชาวโลกในต่างแดนอย่างถูกต้องตามหลักการประกอบอาหารไทย จึงขอฝากมา ณ ที่นี่ด้วย
เสาวภา นิสภโกมล
ประวัติโรงเรียน
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 โดยอาจารย์เสาวภา นิสภโกมล (โมโตโอะ) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันโรงเรียนตั้งอยู่ที่ 303-304 ประสานมิตร พลาซ่า (ชั้น 3) สุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
วัตถุประสงค์ของโครงการจัดตั้งโรงเรียน
1.เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการพูด ฟัง อ่าน และเขียนภาษาไทยได้อย่างถูก ต้อง คล่องแคล่ว และเหมาะสมกับกาลเทศะ
2.เพื่อสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทย ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย โดยใช้ภาษาเป็นสื่อกลาง
3.เพื่อให้ผู้เรียนมีพื้นฐานภาษาไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ในการทำงานและการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
4.เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมทางด้านการประกอบอาหารไทย ขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนรสชาติของอาหารไทยได้อย่างถูกต้อง และสวยงาม เช่น การตัด หั่น ซอยผักชนิดต่างๆ รวมไปถึงการจัดจาน ด้วยการแกะสลักผักและผลไม้เพื่อให้เกิดความสวยงาม
5. เพื่อให้ผู้เรียนเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้
โรงเรียนภาษาและศิลปะการประกอบอาหารเสาวภา เป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้ดำเนินการสอนวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับนักศึกษาแลกเปลี่ยนในโครงการ “สนับสนุนให้นักศึกษาชาวต่างชาติเข้ามาเรียนภาษาและวัฒนธรรมไทย” ผู้ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ในระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
SLTCS has been chosen by Bureau of International Relation (Ministry of Education), to be in the Thai Language and Culture Exchange Course For Foreign Students project, as a school in Bangkok which provided “ Thai Language and Culture program” for students under scholarship of Ministry of Education in 2011 (22nd February – 27th March 2011).